เกียรติยศที่ได้รับเมื่อชีวิตไร้ลมหายใจ – รางวัลพานแว่นฟ้า สำหรับ จิตร ภูมิศักดิ์

Blog History Politics

พ่อไปเจอเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ในงานวันเกิดจิตรครบ 82 ปี ในคราวนี้ พ่อ นัดพบกับเพื่อนเก่าๆ หลายคน ได้พบปะ พูดคุย และได้พบกับคนรุ่นหลังที่ยังสนใจใคร่รู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ ผ่านบุคคลที่รู้จัก จิตร ยามมีลมหายใจ ยามที่มีตัวตน และสามารถสร้างสรรค์ผลงานทิ้งไว้จำนวนมาก คงอยู่และต่อมากลายเป็นมรดกสำคัญให้กับคนรุ่นหลังได้รู้จักสังคมอันกดขี่ในสมัยนั้น

แต่ในงวดนี้ มีเหตุการณ์พิเศษเพิ่มเติมมาอีกนิด เมื่อ คุณป้าจินตนา เพื่อนร่วมรุ่นจิตรอีกท่าน แจ้งให้ทราบว่า ท่านได้เข้าไปตรวจทรัพย์สินในฐานะผู้ดูแลกองมรดกให้กับพี่สาวจิตร – คุณป้าภิรมย์ ภูมิศักดิ์ (มารดาจิตร มีบุตรเพียง 2 คน คือภิรมย์ และ จิตร เมื่อจิตรเสียชีวิตไปเสียแต่วัยหนุ่ม จึงคงเหลือเพียงพี่สาวผู้รับมรดก ส่วนใหญ่เป็นหลักฐาน เอกสารเก่า)  คุณป้าจินตนา ไปพบซองเอกสารที่รัฐสภาส่งถึงพี่สาวจิตร จึงถือวิสาสะเปิดอ่าน และพบว่ามันคือหนังสือเชิญรับรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ และขออนุญาตนำลงานจัดพิมพ์ลงหนังสือ (ข่าวรัฐสภา : 23 ส.ค. 54 – คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า เลือกสรรวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ 10 รางวัล เนื่องในวาระครบหนึ่งทศวรรษของรางวัลพานแว่นฟ้าในปี 2554 )

[dmalbum path=”/wp-content/uploads/dm-albums/Jit 82 yrs/”/]

รางวัลพานแว่นฟ้า เป็นรางวัลการประกวดผลงานเขียน วรรณกรรมการเมือง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไท เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 ในวาระครบรอบ 70 ปี ของรัฐสภา โดยได้จัดประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก และในปี พ.ศ. 2546 ได้เพิ่มประเภทบทกวีการเมืองเข้าประกวดด้วย รวมทั้งแบ่งเป็นระดับนักเรียนและระดับประชาชน จนถึงปี พ.ศ. 2548 ได้ยกเลิกการแบ่งระดับไป การประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปี นับเป็นรางวัลทางวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลอีกรางวัลหนึ่งในยุคนี้

ในปี พ.ศ. 2554 อันเป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษของรางวัลพานแว่นฟ้า คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ได้พิจาณาเลือกสรรวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ 10 รางวัล ได้แก่ ขอบฟ้าขลิบทอง ของ อุชเชนี หรือ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์ถึงเชิงตะกอน ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แด่ วัยดรุณของชีวิต ของ ทวีปวร หรือ ทวีป วรดิลก ทานตะวันดอกหนึ่ง ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ธรรมาธิปไตย : หลักปฏิบัติศาสนาและศีลธรรม (ตัดตอนจาก คู่มือมนุษย์ ฉบับปฏิบัติธรรม) ของ พุทธทาสภิกขุ หรือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญฺโญ) นักกานเมือง ของ ลาว คำหอม หรือ คำสิงห์ ศรีนอก เปิบข้าว (ตัดตอนจาก วิญญาณหนังสือพิมพ์ คำเตือนจากเพื่อนเก่าอีกครั้ง) ของ จิตร ภูมิศักดิ์ หมาตำรวจ ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ ของ ดอกประทุม หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเรื่อง อีศาน ของ นายผี หรือ อัศนี พลจันทร โดยการมอบรางวัลดังกล่าว เป็นการมอบให้กับผลงานของนักเขียนไทยในอดีตที่มีเนื้อหาสาระแสดงทัศนะหรือ สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยในอดีตและปัจจุบันได้อย่างลุ่ม ลึก หลากหลาย งดงาม สมควรเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างเพื่อปลุกเร้าหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้รัก ประชาธิปไตยในสังคมไทย

(“รางวัลพานแว่นฟ้า” จากวิกิพีเดีย)

ในความที่โตมากับเรื่องราวของ จิตร ได้สดับรับฟังเรื่องของจิตรมาตั้งแต่ฟังความรู้เรื่องจนอายุไม่น้อยอีกแล้ว การให้รางวังครั้งนี้แด่ จิตร และผู้เกิดก่อนกาลที่จากไปแล้วในอดีตทั้งหลาย มันเหมือนน้ำหยดหนึ่งที่หยดลงแผ่นดินที่แห้งแตกระแหง จิตร และผู้จากไปอีกหลายๆ คนในอดีต จากไปพร้อมคำตราหน้าว่าเป็นโจรคอมมิวนิสต์ และตายอย่างคนไร้ญาติขาดมิตร สุดท้ายจึงปรากฏว่า เป็นเพียงเพราะคนที่คิดต่างกับผู้ปกครองผู้เหี้ยมโหดในเวลานั้น จึงต้องถูกกำจัด เป็นนักโทษการเมือง และแม้ทุกวันนี้ ก็ยังไม่เคยมีคำขอโทษใดๆ จากภาครัฐ

ได้แต่หวังเสมอว่า ไทยจะหยุดเหตุการณ์กล่าวหาแล้วกำจัดเสียที แต่เวลาผ่านไปจนจิตรตายไป 50 กว่าปีแล้ว เหตุการณ์ไล่ล่าแบบนี้ก็ไม่เคยจบสิ้น ไม่รู้ว่าสังคมไทยจะยอมรับคนที่คิดต่างและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขได้ในวันไหน …

ผลงานที่คงอยู่ คือสิ่งที่เป็นอมตะสำหรับนักกวีท่านนี้ โดยเฉพาะบทที่โด่งดังมาก “เปิบข้าว”

เปิบข้าว

เปิบข้าวทุกคราวคำ………………จงสูจำเป็นอาจินต์
เหงื่อกุที่สูกิน……………………..จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส……………………….ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน……………….และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง………………..ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว…………….ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด………………ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น…………………..จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง………………….และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกุทั้งสิ้น…………………..ที่สูซดกำซาบฟัน

จิตร ภูมิศักดิ์ จากงานกวีนิพนธ์ “วิญญาณหนังสือพิมพ์ คำเตือนจากเพื่อนเก่าอีกครั้ง”

(ที่มา : บันทึกไว้ในวงวรรณ (ภาค ๒) …..บทกวีเพื่อชีวิต……)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ “เปิบข้าว” ของไทย : เปิบข้าว (จิตร ภูมิศักดิ์)

 

Moui

Just say.

More Posts - Website

Follow Me:
TwitterFacebookPinterest