จากรวันดา ถึงราชประสงค์… สงครามกลางเมืองอีกแล้วหรือ?

Politics

จากรวันดา ถึงราชประสงค์… สงครามกลางเมืองอีกแล้วหรือ?
โพสต์ทูเดย์ วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2553 Section B ต่างประเทศ หน้า B4

สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ที่เต็มไปด้วยการใช้กำลังความรุนแรง การสูญเสียเลือดเนื้อ และการเผชิญกันอย่างชัดเจนของคู่กรณีของสีต่างๆ ในสังคม กำลังเข้าสู่ภาวะที่เปราะบางและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หลายฝ่ายทั้งนักวิชาการไทยและเทศ ต่างแสดงความวิตกกังวลถึงความขัดแย้งดังกล่าวอาจจะลุกลามพัฒนาไปสู่ภาวะ “สงครามกลางเมือง” หรือสงครามที่คนในชาติเดียวกันลุกขึ้นมารบราฆ่าฟัน และมุ่งหมายจะเอาชีวิตกันเอง

ย้อนกลับไปในอดีต สงครามกลางเมืองคงไม่ใช่สิ่งที่ผิดประหลาด หรือไม่เคยเกิดขึ้น หากแต่ว่าสงครามกลางเมืองเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เกิดความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ขึ้น จนกระทั่งพัฒนาไปเป็นความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ

สงครามกลางเมืองครั้งที่ถือได้ว่าสร้างความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งคงหนีไม่พ้น “สงครามกลางเมืองในรวันดา” อันเป็นความขัดแย้งระหว่างสองชนเผ่า คือ ฮูตู กับ ทุตซี ซึ่งในที่สุดพัฒนาไปเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นเหตุให้ประชาชนชาวรวันดาถูกสังหารไปนับล้านคนในเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้น

สาเหตุของความขัดแย้งที่พัฒนาไปเป็นสงครามกลางเมืองในรวันดาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่รวันดายังเป็นอาณานิคมอยู่ภายใต้การปกครองของเบลเยียม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เบลเยี่ยมจัดการปกครองรวันดาโดยให้ชนเผ่าทุตซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวย มีการศึกษาดี เป็นนักรบ แต่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศได้ทำหน้าที่ในการปกครองประเทศ

ในขณะเดียวกันเบลเยียมก็กลับปฏิบัติกับชาวฮูตู ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เยี่ยงพลเมืองชั้นสองของประเทศ การกระทำดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจกับชนเผ่าฮูตู และทำให้เกิดความรู้สึกบ่มเพาะในกลุ่มชาวฮูตู ว่าตนในฐานะเจ้าของประเทศจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชนเผ่าของตนได้กลับมาปกครองประเทศ

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองชนเผ่าเริ่มขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากที่เบลเยียมประกาศให้เอกราชแก่รวันดา และทำให้ชาวฮูตูเข้าไปมีอำนาจเป็นรัฐบาลปกครองรวันดา

ในช่วงปี 2533 ได้เกิดเหตุการณ์การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของชาวทุตซีที่มีชื่อว่า แนวร่วมผู้รักชาติชาวรวันดา (Rwandan Ratriotic Front – RPF) กับรัฐบาลรวันดา ซึ่งปกครองโดยชาวฮูตู

ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลฮูตูมีมติร่วมกันว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะจบลงได้ ก็ต่อเมื่อการกำจัดชาวทุตซีให้หมดไปจากรวันดา

ภายหลังจากมีมติดังกล่าวแล้ว รัฐบาลฮูตูก็ริเริ่มโครงการต่อต้านชาวทุตซีโดยการกล่าวโทษให้ร้ายชาวทุตซีและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลผ่านทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และใบปลิว จัดตั้งหน่วยทหารบ้านมากกว่า 3 หมื่นคนทั่วประเทศ รวมทั้งปิดประกาศรณรงค์ให้ประชาชนขับไล่ชาวทุตซี นอกจากนี้ยังมีการแบ่งแยกประชาชนทั้งสองเผ่าออกจากกัน โดยการระบุในบัตรประจำตัวประชาชน และการสังเกตจากสีผิว

เหตุการณ์ความขัดแย้งของทั้งสองชนเผ่าเริ่มตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีของประเทศบุรุนดี ซึ่งเป็นชาวฮูตูเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร รัฐบาลรวันดาใช้โอกาสนี้ในการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกล่าวหาชาวทุตซีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และกล่าวว่าประธานาธิบดีบุรุนดี ถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมก่อนที่จะถูกสังหาร

นอกจากนี้ รัฐบาลรวันดายังปล่อยข่าวว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลชาวทุตซีกำลังเตรียมการโจมตี และแจ้งให้ชาวฮูตูทุกคนเตรียมป้องกันตัว

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นก็คือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2537 ที่ได้เกิดเหตุเครื่องบินของประธานาธิบดี Juvenal Habyarimana ของรวันดา และประธานาธิบดี Cyprien Ntaryamira ของบุรุนดี ถูกยิงตก เป็นเหตุให้ทั้งสองเสียชีวิต ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น รัฐบาลรวันดาก็ได้ออกมากล่าวหาว่ากลุ่มต่อต้านชาวทุตซีเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

และในเช้าวันรุ่งขึ้น กองกำลังทหารของรัฐบาลนำโดย พันเอก Theoneste Bagosora ร่วมกับกลุ่มทหารบ้านและชาวฮูตูที่กำลังอยู่ในอารมณ์โกรธแค้น ก็ได้ออกมาไล่ฆ่าฟันชาวทุตซี และข่มขืนหญิงสาวชาวทุตซีเพื่อที่จะกำจัดเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีให้สิ้นซาก เหตุการณ์ในเช้าวันดังกล่าวนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมือง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

ในที่สุดแล้วสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาก็จบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม RPF หรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลชาวทุตซีที่อยู่ภายใต้การนำของ Paul Kagame เหตุการณ์ในครั้งนี้กินระยะเวลาประมาณ 100 วัน นับตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. ส่งผลให้มีชาวทุตซีถูกสังหารไปถึง 8 แสน-1,071,000 คน และมีหญิงชาวทุตซีเป็นเหยื่อการถูกข่มขืนกว่า 5 แสนคน

จากเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์และนักวิชาการต่างก็แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างยิ่งในการปลุมระดมมวลชน โหมกระพือความขัดแย้ง สร้างความรู้สึกเกลียดชังให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนของทั้งสองชนเผ่า และเป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดความรุนแรง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนในรวันดา ณ ขณะนั้นก็คือ การปลุกระดมและชี้นำสาธารณะว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่างคนส่วนใหญ่กับคนส่วนน้อย ระหว่างความดีกับความชั่ว หรือการที่สื่อวิทยุใช้คำเรียกชาวทุตซีว่า เปรียบเสมือนเป็นแมลงสาบซึ่งไม่มีค่า หรือการปลูกฝังความคิดที่ว่าการฆ่าคนชั่วไม่ถือเป็นความผิด

หนังสือเรื่อง The Media and the Rwanda Genocide ได้นำเสนอถึงบทบาทของสื่อมวลชนที่มีต่อเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเอาไว้ว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

  1. สื่อมวลชนแพร่กระจายความเกลียดชังระหว่างคนสองชนเผ่าอย่างตั้งใจผ่านทางคำพูด คำขวัญ และเพลงปลุกระดม
  2. สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานการใช้กำลังความรุนแรงระหว่างนักการเมืองหัวรุนแรงและเครือข่าย
  3. สื่อมวลชนทำหน้าที่ชี้นำประชาชนให้เห็นว่าทางออกเดียวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือการใช้กำลังความรุนแรง พร้อมทั้งจำกัดทางเลือกของการแก้ไขปัญหาโดยใช้สันติวิธ

เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ บทบาทของสื่อมวลชนที่แทนที่จะทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริง และช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง กลับทำหน้าที่ในการแพร่ขยายความรุนแรง โหมกระพือและโหนไปกับกระแสความเกลียดชัง ตลอดจนสร้างความรู้สึกของการเป็นศัตรู และความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม

ชาวฮูตูซึ่งมีความเกลียดชังเป็นทุนเดิมแล้ว และได้หลงเชื่อไปตามสิ่งที่สื่อนำเสนอโดยไม่ได้ใช้สติปัญญาและวิจารณญาณในการพิจารณาไตร่ตรอง ยังได้ทำให้ความโกรธแค้น และความเกลียดชังได้พัฒนากลายไปเป็นการใช้กำลังความรุนแรง จนนำไปสู่สงครามกลางเมือง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

เป็นบทเรียนสำคัญ ที่วันนี้หากทั้งคนไทยและสื่อมวลชนไทย ไม่ว่าจะสีไหนหรืออยู่ฝ่ายไหนยังหลงไปตามอารมณ์  โดยขาดการใช้สติสัมปชัญญะและความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม

รวันดาอาจจะมาซ้ำรอยที่ราชประสงค์ก็ได้ ใครจะรู้…!

Moui

Just say.

More Posts - Website

Follow Me:
TwitterFacebookPinterest