โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิชิตชัย อมรกุล…ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูผู้คนเลยสักนิด เป็นใครบางคนที่สังคมไทยไม่รู้จัก แต่สำหรับศิษย์เก่าชาวเดือนตุลาคม ชื่อนี้คุ้นหูอย่างยิ่ง เป็นชื่อที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจและความทรงจำมิลืมเลือน
วิชิตชัยเป็นบุตรคหบดีตระกูลอมรกุลแห่งจังหวัดอุบลราชธานี แม้เขาจะมาจากต่างจังหวัดไกลถึงสุดแดนอีสาน แต่เขามีอะไรบางอย่างที่พิเศษยิ่งกว่าเด็กวัยเดียวกัน เขาเป็นผู้ใหญ่เกินตัวมาตั้งแต่เล็ก เป็นเด็กฉลาด สุขุม เรียนดีเยี่ยม ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบ รักเพื่อน รักครอบครัว รักทุกคนที่อยู่รอบข้าง และมีรอยยิ้มอ่อนโยนบนใบหน้าอยู่เป็นนิตย์ วิชิตชัยสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยปี ๒๕๑๘ และด้วยความเฉลียวฉลาด ทุ่มเท เขาก็เข้ามาเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จท่ามกลางความปลาบปลื้มของบิดามารดาและญาติพี่น้อง…. วิชิตชัยได้เป็นหนึ่งในชาวสิงห์ดำรุ่นที่ ๒๘
นอกจากการเรียนที่มีผลคะแนนยอดเยี่ยมทุกวิชาตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกของปี ๒๕๑๘ วิชิตชัยยังได้เป็นนักกีฬาประจำทีมฟุตบอลของคณะรัฐศาสตร์ด้วยร่างกายที่แข็งแรงว่องไวและปฏิภาณไหวพริบที่ดีเลิศ ในฐานะนักกีฬาตัวจริงของคณะ เขาฝึกซ้อมอย่างรับผิดชอบ ตรงตามนัด และไม่รู้จัดเหน็ดเหนื่อย
ปี ๒๕๑๘ นั้นเป็นเวลาเพียงสองปีหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๑๖ มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นโรงบ่มเพาะความคิดประชาธิปไตย และเป็นฐานแห่งการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่รักชาติ รักประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคม ด้วยพื้นฐานเดิมที่เป็นคนเฉลียวฉลาด ตื่นตัว รักเพื่อน รักสังคม และรักความเป็นธรรมอยู่แล้ว วิชิตชัยจึงกระโจนเข้าสู่กระแสคลื่นประชาธิปไตยในเวลานั้นอย่างไม่ลังเลเหมือนกับคนหนุ่มสาวรุ่นเดียวกันจำนวนมาก เขาร่วมเคลื่อนไหวขับไล่ฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย สนับสนุนชาวนาชาวไร่ที่เข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรมในกรุงเทพฯ ช่วยเหลือกรรมกรคนงานที่ต่อสู้เพื่อค่าแรงและสวัสดิการอันชอบธรรม
ความหวังอันเต็มเปี่ยมในหัวใจของวิชิตชัยคือสังคมไทยที่มีเสรีภาพ เป็นประชาธิปไตยให้ความเป็นธรรม และความอยู่ดีกินดีแก่มวลพี่น้องทุกหมู่เหล่าโดยไม่แยกเชื้อชาติ ศาสนาหรือชนชั้น แม้ว่าเขาจะมีภารกิจเพื่อสังคมเต็มมือ แต่เขาก็ยังเรียนอย่างสม่ำเสมอ มีผลการเรียนดีเยี่ยมโดยตลอด และยังคงฝึกซ้อมลงแข่งฟุตบอลให้แก่คณะรัฐศาสตร์อย่างครบถ้วน อีกทั้งความรักเอื้ออาทรของเขาที่มีต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนเพื่อนร่วมทีมฟุตบอล และเพื่อนร่วมกิจกรรม วิชิตชัยจึงเป็นที่รู้จักและที่รักของทุกคน
แต่วิชิตชัยและเพื่อนๆ นิสิตนักศึกษากลับเป็นที่เกลียดชังเคียดแค้นของผู้มีอำนาจที่สูญเสียผลประโยชน์ กลุ่มขวาจัดได้รวมกำลังกันใช้กลอุบายสกปรกนานัปการใช้สื่อมวลชนบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสถานีวิทยุยานเกราะ ทำการกระพือข่าวลือและข้อมูลเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีวิชิตชัยและเพื่อนให้เป็น “พวกบ่อนทำลายชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” เป็น “คอมมิวนิสต์” “พวกขายชาติ” กระทั่ง “ไม่ใช่คนไทย” แต่เป็น “พวกต่างชาติจีนญวน” กระทั่งประกาศผ่านวิทยุยานเกราะอย่างเปิดเผยว่า จะฆ่านักศึกษาจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐ คน “เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
พวกขวาจัดลงมือเข่นฆ่าอย่างไม่ปรานี พวกเขาลอบฆ่าผู้นำชาวนาชาวไร่หลายสิบคนทั่วประเทศภายในเวลาไม่กี่เดือน ลอบสังหารฆ่าผู้นำกรรมกร คนงาน ลอบฆ่าผู้นำนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัย…ศพแล้วศพเล่า กลุ่มกระทิงแดงอันเป็นกลุ่มอันธพาลการเมืองถึงกับย่ามใจ รวมกำลังบุกเข้ายิงถล่มและเผาทำลายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนสิงหาคม ๒๕๑๘
พวกขวาจัดเริ่มลงมือตามแผน “ยุทธการฆ่านกพิราบ” ด้วยการนำเอาจอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๙ ในคราบของสามเณร เข้าพักและอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยอ้างว่าเข้ามาเยี่ยมบิดาที่กำลังป่วยหนัก และเมื่อนิสิตนักศึกษาประชาชนเคลื่อนไหวคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม พวกขวาจัดก็ตอกย้ำความโกรธของประชาชน ด้วยการฆ่าแขวนคอสมาชิกแนวร่วมประชาชนสองคนที่จังหวัดนครปฐม เป็นภาพสองคนถูกซ้อมและแขวนคอตายอย่างทารุณตรงประตูเหล็ก ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
นิสิตนักศึกษา ประชาชน จึงถึงจุดสุดท้ายของความอดกลั้น และระดมพลชุมนุมต่อต้านจอมพลถนอมในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ อีกทั้งจัดการแสดงละครกลางแจ้งเรื่องการฆ่าแขวนคอสองศพที่นครปฐม
แต่อนิจจา ภาพถ่ายการแสดงละครฆ่าแขวนคอในครั้งนั้น ได้ถูกนำไปดัดแปลงให้กลายเป็นภาพแขวนคอบุคคลระดับสูงขึ้น ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับ และได้กลายเป็นเครื่องมือของพวกฝ่ายขวาจัดใช้ปลุกระดมความเกลียดชังนิสิตนักศึกษาระดมกำลังกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มนวพล ประกอบกับกองกำลังตำรวจนครบาล ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจพลร่ม และตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งล้วนติดอาวุธปืนกลหนักเบา เครื่องยิงลูกระเบิด กระทั่งปืนต่อสู้รถถังและปืนไร้แรงสะท้อน รวมศูนย์เข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกลางดึกคืนวันที่ ๕ ตุลาคม ทั้งที่นิสิตนักศึกษาที่ถูกปิดล้อมมีเพียงสองมือเปล่าที่ปราศจากอาวุธใดๆ
ช่วงเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ฝ่ายปิดล้อมเริ่มใช้อาวุธทั้งหนักเบา ยิงถล่มเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถี่ยิบรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที กระทั่งถึงช่วงสายก็กลายเป็นการยิงถล่มอย่างบ้าเลือดเมามัน นิสิตนักศึกษาบางส่วนเริ่มหาทางหลบหนี คนที่ถูกจับได้ก็ถูกทรมาน ถูกยิงทิ้ง ถูกฆ่าอย่างทารุณกลางถนน ต่อหน้าสายตาผู้คนที่มุงดู บางคนถูกจับแขวนคอใต้ต้นไม้แล้วเอาท่อนไม้ เก้าอี้เหล็ก ระดมตีอย่างบ้าคลั่ง บางคนถูกเอาลิ่มตอกอก ถูกราดน้ำมัน หรือเอายางรถวางทับแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น นักศึกษาหญิงถูกฆ่า แล้วเอาท่อนไม้กระแทกใส่ช่องคลอด ฯลฯ
วิชิตชัย อมรกุล เข้าร่วมการต่อสู้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ตั้งแต่ต้น และด้วยความเป็นนักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงปราดเปรียว เขาจึงอาสาเข้าประจำหน่วยรักษาความปลอดภัยแนวหน้าสุดเฉกเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา วิชิตชัยทำหน้าที่อย่างถึงที่สุด ทั้งหมอบ ทั้งวิ่งฝ่าห่ากระสุนเข้าช่วยเพื่อนๆ ที่บาดเจ็บคนแล้วคนเล่า แต่…ขณะที่วิชิตชัยวิ่งเข้าไปช่วยเพื่อนอีกคนที่ถูกยิงล้มคว่ำอยู่ตรงหน้าประตูใหญ่ ตัวเขาทรุดฮวบลงทันที… อนิจจา วิชิตชัย ถูกยิงด้วยปืนเอ็ม ๑๖ เข้าที่ท้อง กระสุนทะลุหลังเลือดสาดกระเซ็นเต็มพื้นซีเมนต์ กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพลที่กระหายเลือดสุดขีด พากันเข้ารุมทึ้งวิชิตชัย เอาเชือกเข้าผูกคอ ลากเอาร่างของเขาไปตามพื้นแล้วเอาท่อนไม้ เก้าอี้เหล็ก ฟาดซ้ำไม่นับครั้งอย่างเมามัน จากนั้นก็เอาเชือกคล้องเข้ากับกิ่งไม้ กระตุกดึงเอาร่างของเขาขึ้นไปแขวนคอห้อยอยู่กับกิ่งไม้ใหญ่ ถึงกระนั้นก็ยังมิหนำใจ ยังใช้ท่อนไม้ เก้าอี้เหล็ก ฟาดซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วน พร้อมคำก่นด่าอย่างหยาบคายไม่หยุดปาก ท้ายสุดก็ปลดเชือกทิ้งร่างของวิชิตชัยลงมา เอาน้ำมันราดและยางรถวางทับแล้วจุดไฟเผา ทั้งหมดนี้ต่อหน้าฝูงชนที่มุงดูแน่นขนัด และต่อหน้ากองกำลังตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทย ที่กำลังปิดล้อมยิงถล่มนักศึกษาที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณพ่อของวิชิตชัย เร่งรุดเดินทางจากอุบลราชธานีเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่เหตุการณ์เริ่มส่อเค้าความรุนแรง แต่ไม่พบลูกชายที่รัก เพราะวิชิตชัยไปประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ต้นเสียแล้ว หลังจากการเข่นฆ่าสังหารหมู่ในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม คุณพ่อก็ออกค้นหาลูกชายที่โรงเรียนตำรวจบางเขน ซึ่งเป็นที่คุมขังนิสิตนักศึกษากว่า ๓,๐๐๐ คน ที่ถูกจับกุมในวันนั้น แต่ก็ไม่พบชื่อวิชิตชัย อมรกุล แต่อย่างใด คุณพ่อจึงหันไปค้นหาลูกชายตามห้องผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่พบแม้แต่เงาร่างของลูกชาย
ด้วยหัวใจที่เจ็บปวดและพรั่นพรึง คุณพ่อตัดสินใจเข้าดูศพผู้เสียชีวิต ดูแม้แต่ศพที่เหลวแหลกเพราะถูกทารุณกรรมสุดป่าเถื่อนหลายสิบศพ แต่ก็หาไม่พบอีก…ดูเหมือนความหวังที่จะพบลูกชายสุดที่รักจะเลือนรางเต็มที
เพื่อนสนิทของวิชิตชัย ซึ่งเป็นนิสิตรัฐศาสตร์และเป็นนักกีฬาในทีมเดียวกันอาสาช่วยคุณพ่อดูศพอีกรอบ ในที่สุด เพื่อนก็มาหยุดอยู่ที่ร่างหนึ่ง ใบหน้าเหลวเละ มีเชือกผูกที่คอ มีรูกระสุนปืนที่ท้อง และร่างกายแหลกช้ำ เพื่อนสังเกตเห็นร่างนั้นใส่รองเท้ากีฬาที่ชำรุดและมีรอยซ่อมแซม …นั่นมันรองเท้ากีฬาคู่โปรดของวิชิตชัย… คุณพ่อเข่าอ่อน น้ำตาพรั่งพรูออกมาอย่างหมดกลั้น
ครอบครัวจัดงานทำบุญศพอย่างเงียบๆ ให้แก่วิชิตชัยที่วัดธาตุทอง เพื่อนนิสิตนักศึกษามากราบศพกันเพียงประปราย เพราะบางส่วนถูกจับกุมคุมขัง และบางส่วนกำลังหลบหนีเอาชีวิตรอดจากการตามล่าของรัฐ เพื่อนอีกคนของวิชิตชัยซึ่งถูกซ้อมถูกจับกุมในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม และได้รับการประกันตัว พาร่างและใบหน้าอันบอบช้ำมากราบศพเพื่อน แต่ก็มิอาจกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้ นั่งลงร้องไห้คร่ำครวญอย่างเจ็บปวดที่สุดหน้าโลงศพนั่นเอง
คุณพ่อของวิชิตชัยหัวใจแหลกสลาย นั่งซึม น้ำตาคลออยู่ที่เก้าอี้ พร่ำถามผู้คนที่มางานศพ…
“วิชิตชัย…ลูกชายผม… คนหนุ่มหน้าตาดีที่สุดในละแวกบ้าน…. เขาถูกกระทำ จนแม้แต่ผมผู้เป็นพ่อยังจำเขาไม่ได้เมื่อไปเห็นหน้าเขาที่โรงพยาบาล…”
“ลูกชายผม… คนหนุ่มมองโลกในแง่ดี รักเพื่อน รักครอบครัว และรักชาติ เรียนเก่งและมีอนาคตยาวไกล… เขามีความผิดอะไรหรือ ถึงต้องกระทำกับเขาอย่างป่าเถื่อนถึงเพียงนี้….”
คำถามของคุณพ่อวิชิตชัย จึงยังดังก้องอยู่ในศาลาสวดศพวัดธาตุทอง โดยไม่มีคำตอบ
ตราบจนบัดนี้
ที่มา : จุลสาร “ตุลาชน ตุลาชัย” ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2543) หน้า 48-53
www.2519.net |
You must be logged in to post a comment.