เมื่อชาติตะวันตกพยายามสกัดดาวรุ่งจีน

Politics

เมื่อชาติตะวันตกพยายามสกัดดาวรุ่งจีน

(13 ต.ค. 53)–เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พญามังกรอย่าง “จีน” เพิ่งแซงหน้าญี่ปุ่นและก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่รายงานความมั่งคั่งโลกของ เครดิต สวิส ก็คาดการณ์ว่า จีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศมั่งคั่งที่สุดอันดับ 2 ของโลกในปี 2558 อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและการบริโภคในประเทศที่แข็ง แกร่ง นอกจากนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็กำลังหารือว่าจะเพิ่มอำนาจในการลงมติในที่ประชุมของไอเอ็มเอฟให้กับประเทศ เศรษฐกิจ​เกิดใหม่ซึ่งรวมถึงจีนหรือไม่ หากมีการอนุมัติจริง อาจจะทำให้จีนแซงหน้าประเทศมหาอำนาจอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ขึ้นเป็นสมาชิกที่มีอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของไอเอ็มเอฟก็เป็นได้

เห็นได้ชัดว่า ตอนนี้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนได้กลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับ เคลื่อนเศรษฐกิ​จโลก ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ยังคงเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัวจากภาวะถดถอย แม้อนาคตของจีนดูเหมือนว่าจะโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ แต่ในความเป็นจริงแล้วจีนกำลังถูกปัญหารุมเร้ารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง หรือดินแดน

ศึกจากโลกตะวันตก

การที่จีนเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งได้สร้างความเกรงขามให้กับนานา ประเทศทั่ว​โลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจของโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งพยายาม “สกัดดาวรุ่ง” ด้วยวิธีการต่างๆนานา โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ด้วยการกดดันให้จีนขึ้นค่าเงินหยวน โดยเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูปสกุลเงินเพื่อการค้าที่เป็นธรรม (Currency Reform for Fair Trade Act) เพื่อเปิดทางให้สหรัฐสามารถคว่ำบาตรการค้า ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีพฤติกรรมปั่นค่าเงิน อย่างผิด​กฎหมาย โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะกดดันให้จีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนให้ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัวขึ้น หลังจากนั้นประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ออกมากดดันว่าจีนยังดำเนินการปรับขึ้นค่าเงินหยวนได้ไม่เร็วพอ และขอให้จีนปล่อยลอยตัวเงินหยวนให้เร็วยิ่งขึ้น โดยพฤตินัยแล้วสหรัฐอเมริกากำลังเดินหน้ากดดันจีนอย่างต่อเนื่อง แต่นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กลับรีบออกตัวว่าสหรัฐไม่ได้มีเจตนาที่จะเปิดฉากสงครามทางการค้าหรือสงคราม ค่าเงินแต่อย่างใด

ระหองระแหงกับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากจะถูกกดันจากประเทศมหาอำนาจแห่งโลกตะวันตกแล้ว จีนยังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้านรอบด้าน โดยเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จีนเพิ่งมีปัญหาในน่านน้ำกับญี่ปุ่น หลังจากที่เรือประมงของจีนชนกับเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่นในน่านน้ำที่ยังเป็น พื้นที่พ​ิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นจับกุมตัวไต้ก๋งเรือจีนไป แต่ในที่สุดญี่ปุ่นก็ตัดสินใจปล่อยตัวไต้ก๋งชาวจีนให้เป็นอิสระ แต่นั่นก็ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยิ่งครุกรุ่นขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกันจีนก็ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงแม้แต่กับบ้านพี่เมืองน้องอย่าง ไต้หวัน โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไต้หวันได้ซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์มูลค่า 6.4 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐอเมริกา และสหรัฐก็กำลังพิจารณาขายเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 ให้แก่ไต้หวันเพิ่มเติมอีก ส่งผลให้จีนซึ่งต้องการรวมไต้หวันให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ประกาศตอบโต้ด้วยการระงับการแลกเปลี่ยนทางการทหารกับสหรัฐในทันที ถึงกระนั้นประธานาธิบดีหม่า อิง จิว ของไต้หวัน ก็ได้กล่าวเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันชาติ (10 ตุลาคม) ว่า ไต้หวันจะเดินหน้าซื้ออาวุธจากต่างชาติต่อไป โดยให้เหตุผลว่าความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่ไม่สามารถการันตี ความมั่นคงข​องไต้หวันได้

รางวัลที่จีนไม่ต้องการ

ล่าสุด จีนต้องแบกรับแรงกดดันครั้งใหญ่จากประชาคมโลก เมื่อคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลของนอร์เวย์ตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขา สันติภาพปร​ะจำปี 2553 ให้กับนายหลิว เสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจีนวัย 54 ปี ซึ่งถูกตัดสินจำคุกนาน 11 ปี เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วในความผิดฐานพยายามโค่นล้มรัฐบาล พร้อมทั้งยกย่องนายหลิวว่าเป็น “นักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในประเทศจีนมาอย่างยาวนาน และปราศจา​กความรุนแรง” แต่จีนไม่ได้ชื่นชมกับรางวัลระดับโลกที่ได้รับเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม รางวัลนี้เปรียบเสมือนการยั่วโมโหจีนอย่างรุนแรง เนื่องจากก่อนหน้านี้จีนเคยออกมาเตือนแกมขู่แล้วว่า คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลไม่ควรมอบรางวัลดังกล่าวให้กับนายหลิว ซึ่งเป็นเหมือนอาชญากรทางการเมืองของจีน ดังนั้นเมื่อมีการประกาศชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล จีนจึงแสดงความไม่พอใจและมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง

คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลของนอร์เวย์ได้กระทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครกล้าทำ มาก่อน นั่นคือการฉีกหน้าและท้าชนจีนโดยตรง และเมื่อมีผู้กล้าออกหน้าเปิดทางให้ หลายฝ่ายที่ดูเหมือนจะไม่ลงรอยกับจีนอยู่แล้วก็รีบสวมรอยทันที ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรีบออกมาเชิดชูนายหลิว พร้อมเรียกร้องให้ทางการจีนปล่อยตัวนายหลิว โดยไม่ลืมที่จะแขวะว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปการเมือง ของจีนยั​งไม่คืบหน้า แม้การปฏิรูปเศรษฐกิจจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชาวจีนตลอด 30 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

ขณะที่องค์ดาไล ลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณและผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นชาวทิเบต และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2532 ก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนที่แสดงความไม่พอใจต่อการมอบรางวัลดังกล่าว โดยองค์ดาไลลามะตรัสว่า จีนต้องปรับทัศนคติเสียใหม่ พร้อมแนะนำว่าการสร้างสังคมเปิดและโปร่งใส คือหนทางเดียวที่จะช่วยเหลือชาวจีนทุกคนได้ แต่ทุกวันนี้รัฐบาลจีนยังไม่ยอมเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคม ดังนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลง

ด้านผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็พร้อมใจกดดันจีนอย่างหนัก ทั้งนายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ด ของออสเตรเลีย ที่กล่าวว่ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคือเสียงของประชาคมโลกที่ยอมรับการกระทำ ของนายหล​ิว ขณะที่ สตีเฟน ฮาร์เปอร์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่า รางวัลโนเบลน่าจะทำให้รัฐบาลจีนเริ่มหันมาพิจารณาปัญหาสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ประธานาธิบดี หม่า อิง จิว ของไต้หวัน ที่ออกมาแสดงความยินดีกับนายหลิว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศ

มังกรผู้ทรนง

แม้จะถูกรุมทึ้งจากประชาคมโลก แต่จีนก็ไม่หวั่นและเลือกตอบโต้อย่างแข็งกร้าวดังเช่นที่เคยเป็นมา โดยในตอนแรกจีนได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพควรจะมอบให้กับผู้ที่ทำงานเพื่อส่งเสริมความปรองดอง ของชนชาต​ิต่างๆ ซึ่งเป็นความมุ่งหวังของ อัลเฟรด โนเบล แต่หลิว เสี่ยวโป ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับจุดประสงค์ของรางวัลโนเบล สาขาสันติภา​พ และการมอบรางวัลให้กับบุคคลนี้ถือว่าคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลได้ละเมิด ความศักด​ิ์สิทธิ์ของรางวัล จากนั้นกระทรวงต่างประเทศจีนได้เรียกทูตนอร์เวย์ประจำกรุงปักกิ่งเข้าพบ เพื่อประท้วง​และแสดงจุดยืนคัดค้านต่อคำตัดสินของคณะกรรมการมอบรางวัลโนเบล ขณะที่กระทรวงต่างประเทศนอร์เวย์ก็เรียกทูตจีนประจำกรุงออสโลเข้าพบ เพื่อประท้วงการกระทำของจีนเช่นเดียวกัน

ต่อมาในวันจันทร์ (11 ตุลาคม) จีนก็ประกาศยกเลิกกำหนดการพบปะหารือกับนายลิสเบธ เบิร์ก-แฮนเซ่น รัฐมนตรีกระทรวงประมงของนอร์เวย์ ซึ่งแต่เดิมมีกำหนดการที่จะพบหารือกับเจ้าหน้าที่ของจีนที่กรุงปักกิ่งในวัน พุธ (13 ตุลาคม) ซึ่งสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นทำให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจในนอร์เวย์วิตก กังวล เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าปลาแซลมอนรายใหญ่จากนอร์เวย์ นอกจากนั้นข้อตกลงการค้าเสรีที่ทั้งสองประเทศเจรจากันอยู่นั้นก็อาจได้รับผล กระทบไปด​้วย

ขณะเดียวกันจีนยังกระทำสิ่งที่เป็นเหมือนการประชดประชันประชาคมโลกด้วยการ ให้เจ้าหน้​าที่ตำรวจปิดถนนรอบเรือนจำจินโจวซึ่งเป็นที่คุมขังนายหลิว พร้อมทั้งขอให้ผู้สื่อข่าวออกจากพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนั้นหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พานางหลิว เซียะ ภรรยาของนายหลิว ไปพบสามีเมื่อวันเสาร์และกลับที่พักเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นางหลิวก็ถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ภายในบ้านพักในกรุงปักกิ่ง อีกทั้งถูกตัดขาดจากการติดต่อทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตทั้งหมด

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จีนยังเผยแพร่บทความผ่านหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของทางการจีนว่า นายหลิวได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเพราะชาติตะวันตกหวาดกลัวศักยภาพของ จีน จึงพยายามแทรกแซงกิจการภายในด้วยการสนับสนุนผู้ต่อต้านรัฐบาลเพื่อให้เกิด ความแตกแยก​ภายในประเทศ ซึ่งการเผยแพร่บทความดังกล่าวถือเป็นการตอบโต้ที่รุนแรงมาก และอาจแทงใจดำประเทศตะวันตกหลายประเทศ

แม้การกระทำของจีนจะดูเป็น “เผด็จการ” เต็มขั้นในสายตาประชาคมโลก แต่จีนก็ได้แสดงทรรศนะไว้อย่างน่าคิดว่า หากจีนใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคตามที่นายหลิวเรียกร้องมาโดยตลอด ประเทศจีนอาจล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัฐบาลอาจจะไม่สามารถควบคุมประชากรที่มีจำนวนมหาศาลได้ ถึงกระนั้น จีนก็ไม่ได้อาศัยอยู่บนโลกใบนี้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นการรับฟังความเห็นจากผู้อื่นบ้างก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จีนจะเลือกรักษาจุดยืนอย่างแข็งกร้าวโดยไม่หวั่นไหวต่อคำครหาของประชาคมโลก หรือจะยอมโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อลดแรงกดดันที่ทวีความหนักหน่วงขึ้นทุกวัน

Moui

Just say.

More Posts - Website

Follow Me:
TwitterFacebookPinterest