วิกิลีกส์ ความลับที่ไม่มีในโลก #1

Internet Censorship Law Politics Security

วิกิลีกส์ ความลับที่ไม่มีในโลก เผยแพร่ครั้งแรกใน S Magazine นิตยสารฉบับทุกวันพุธ เมื่อ 26 สิงหาคม 2553

ดังนั้นข้อมูลเกี่ยวกับโดเมนของเว็บในวันนี้ที่โพสต์ใหม่ (8 ธันวาคม 2553) เข้าไม่ได้แล้ว

S’ Tech –  S’ Magazine Issue 26 August 2010

ความ ลับ คือสิ่งที่ไม่มีอยากให้เปิดเผย แต่ ความลับ ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนอยากรู้ว่า ในความลับนั้นมันลับเพราะอะไร มีอะไรที่ต้องปกปิด ต้องซ่อนเร้น เป็นสิ่งที่เย้ายวนใจให้ผู้คนจำนวนมาก ยอมเสี่ยงทุกอย่างที่จะเอาความลับมาเปิดเผย

ในการเปิดเผยความ ลับนั้น ผู้ที่ต้องการจะเปิดเผยความลับ มักจะต้องเสี่ยงอันตราย เพราะการนำข้อมูลมาเผยแพร่ นอกจากอาจจะทำให้ผู้ที่ต้องการปกปิดเดือนร้อนได้ (เพราะถ้าไม่เดือนร้อน ก็คงไม่ต้องทำให้มัน “ลับ”) นอกจากนี้ ข้อมูลอันลับนั้น อาจสร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงบุคคล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ การรักษาความลับนั้น ในหลายๆ ครั้งมักหมายความถึงการรักษาชื่อเสียงบุคคลหรือหน่วยงานไปด้วย

อย่าง ไรก็ตาม ความพยายามในการเปิดเผยความลับมีมาตลอดต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านบุคคลในหน่วยงานนั้นๆ หรือจากนักข่าวที่มักมีหน้าที่ต้องขุดคุ้ย และเปิดเผยข้อมูลที่มักปกปิด และในความพยายามเหล่านั้น ผู้ที่เปิดเผยความลับหากไม่ถูกการคาดโทษไว้ ก็มักจะมีการนำกฏหมายมาใช้จับกุมคุมขัง หรือแม้แต่กำหนดให้มีโทษสูงสุดประหารชีวิตผู้ที่บังอาจเปิดเผยความลับ ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับ จึงต้องมีวิธีที่ “ลับ” ไปด้วย

หนึ่ง ในวิธีการส่งข้อมูล “ลับ” ออกไปภายนอกนั้น นอกจากการส่งต่อผ่านเครือข่ายที่ไว้ใจได้ว่าจะปกป้องผู้ส่งข่าว ข้อมูล “ลับ” เหล่านั้น อาจจะต้องผ่านการเข้ารหัสก่อน เพื่อให้ข้อมูลนั้นถูกส่งต่อออกไปได้อย่างปลอดภัย ฟังดูเหมือนหนังเจมส์บอนด์ 007 แต่ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราอยู่ในโลกดิจิทัลแล้ว การส่งต่อข้อมูล “ลับ” ด้วยวิธีการ “ลับ” นั้น ก็ทำกันอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อย่างที่เกิดขึ้นกับเว็บ “วิกิลีกส์” WikiLeaks (http://www.wikileaks.org/) เว็บไซต์รวมรวมเอกสาร วีดิโอ ที่ขึ้นชื่อว่า “ลับ” ในประเทศต่างๆ มาไว้ให้ชาวโลกได้เข้าไปอ่านอย่างเปิดเผย

วิกิลีกส์ มีโครงสร้างเว็บไซต์ในลักษณะคล้าย วิกิพีเดีย (http://www.wikipedia.org/) แหล่งที่ได้ชื่อว่า เป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง นั่นคือ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการส่งบทความ ข้อมูลต่างๆ สามารถจะทำได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบที่จัดเตรียมเอาไว้ ผู้ที่ดูแลระบบก็จะดูแลให้รูปแบบของเอกสารที่ไปปรากฏบนเว็บไซต์ถูกต้องตาม ระเบียบที่กำหนดไว้ กรณีของวิกิพีเดีย การแก้ไขเนื้อหาบทความบนเว็บไซต์ ผู้ที่จะแก้ไขเนื้อหาบนวิกิพีเดียได้นั้น จะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกเสียก่อนจึงจะสามารถแก้ไขเนื้อหาได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการป้องการการกลั่นแกล้ง หรือให้ข้อมูลผิดๆ ออกไป

แต่ สำหรับ วิกิลีกส์ นั้น จุดที่แตกต่างจาก วิกิพีเดีย มีอยู่ว่า ทุกขั้นตอนจะเข้ารหัสทั้งหมด จริงอยู่ผู้ที่จะส่งข้อมูล หรือบทความให้นั้น จะต้องลงทะเบียน แต่ก็เป็นการลงทะเบียนเพื่อใช้งานในระบบ (น่าจะเพื่อการป้องกันพวกสแปมเมอร์ที่มักสร้างขยะออนไลน์เป็นหลัก) ข้อมูลที่ส่งจากสมาชิกที่ลงทะเบียนนั้นจะถูกเข้ารหัส และเพื่อป้องกันการถูกดักข้อมูล หรือการ “ตัดระบบ” ระหว่างทางโดยภาครัฐ จะมีการใช้เครือข่ายที่มีชื่อเรียกว่า เครือข่ายหัวหอม “TOR Network” (http:/ /www.torproject.org) ในการช่วยการส่งข้อมูลถึงกันและกันผ่านเครือข่ายหลักซึ่งคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

เรียก ได้ว่า สำหรับกรณีของเครือข่าย วิกิลีกส์ เลือกใช้ระบบของเครือข่ายหัวหอม ที่ถือได้ว่า มีความปลอดภัยสูง และเป็นระบบที่หลบเลี่ยงการปิดกั้นโดยภาครัฐได้ ยกเว้น ถ้าประเทศนั้นๆ ใช้วิธีการตัดอินเทอร์เน็ตตนเองออกไปจากการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตของโลก ซึ่งถ้าทำอย่างหลังนี้ เรียกได้ว่า เป็นการปิดประเทศเลยทีเดียว

การ กระทำเช่นนี้ เป็นการยั่วยุให้รัฐบาลแต่ละประเทศโกรธเคืองกันอย่างมาก อย่างกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านการทหารของประเทศ สหรัฐอเมริกาในอิรัก เป็นเอกสารจำนวนมากถึง 75,000 ชิ้น  จนทำให้มีการตั้งข้อสงสัยถึงแหล่งที่มา และความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว

อย่าง ไรก็ตาม จูเลี่ยน แอสเซจ (Julian Assange) ผู้ที่มีชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของเว็บไซต์นี้ ชี้แจงว่า เอกสารจำนวนมากดังกล่าวนี้ มีการตรวจสอบก่อนเผยแพร่ และหากว่าข้อมูล “ลับ” ใดจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในแนวหน้าอยู่ ก็ยังเก็บไว้เป็นความลับต่อไป จะรอเปิดเผยเมื่อสามารถเผยแพร่ได้ในภายหลัง

เว็บ ไซต์ วิกิลีกส์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 เคยประสบปัญหาการเงินจนต้องระงับการให้บริการไประยะหนึ่ง และต่อมีมีผู้บริจาคเงินทั้งที่เป็นมูลนิธิ และบุคคลนิรนามช่วยกันสมทบทุนมากพอที่จะทำให้ วิกิลีกส์ ดำเนินงานต่อเนื่องไปได้ วิกิลีกส์ ได้รับรางวัลหลายรางวัล ได้แก่ New Media Award จากนิตยสาร Economist ในปี ค.ศ. 2008, รางวัลจาก Amnesty International UK’s Media Award ในปี 2009 เป็นต้น

สุดท้าย เว็บนี้ ก็ยังคงเป็นเว็บต้องห้ามสำหรับประเทศไทยอยู่ดี หากใครอยากเข้าไปดูเว็บนี้ ก็หาทางใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เข้าดูเว็บ วิกิลีกส์ และสำหรับผู้ที่ใช้ทวิตเตอร์ สามารถติดตามข่าวของ วิกิลีกส์ ได้ที่ @WikiLeaks อีกช่องทางได้ค่ะ

Moui

Just say.

More Posts - Website

Follow Me:
TwitterFacebookPinterest